สำนักสหปฏิบัติฯ

ทางสายกลาง ครึ่ง ๆ กลาง ๆ



 


ความจริงที่เป็นทางสายกลางและข้อปฏิบัติที่เป็นกลางตามหลักที่แท้จริงที่ให้เป็นไปตามกระบวนการของธรรมชาติ และหลักในการครองชีวิตอย่างรู้เท่าทัน เพื่อป้องกันความลุ่มหลงงมงาย อีกทั้งเป็นคนดื้อถือดี หัวแข็งหรือหัวอ่อนไปทางหนึ่งทางใด จำเป็นต้องให้ได้รับรู้และให้เข้าใจถึงหลักธรรมของคำว่า “มัชเณนธรรม” กับ “มัชฌิมาปฏิปทา” ปัญหาเกิดขึ้นตรงที่ว่า จะทำอย่างไรผู้สนใจใคร่รู้จึงจะล่วงรู้ และสามารถยึดถือเป็นหลักปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม  ปริศนาอันลึกลับที่ซ่อนอยู่ในจิตใจของคนส่วนใหญ่ เต็มไหด้วยข้อสงสัยอันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดเป็นชนวนที่สำคัญ ทำให้ผู้แสวงธรรมถูกหลอกลวง และถูกครอบงำจากนักฉวยโอกาสที่สามารถสร้างฉาก แอบกอบโกยความร่ำรวยและยิ่งใหญ่อยู่หลังฉาก ตามเหตุการณ์ที่ปรากฏให้เห็นอยู่เป็นประจำ

สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นไปอย่างไร และจะสิ้นสุดลงอย่างไร ตามข้อเท็จจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือปัญหาเกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์ พุทธศาสนามีคำตอบที่สมเหตุผล จากคำสนทนาของพระอัสชิเถระที่กล่าวกับอุปติสปริพาชกดังนี้
“เย ธมฺมา เหตุปฺ ปภวา    เตสํ เหตฺ ตถาคโต
 เต สญฺจ โย นิโรโธ เจ     เอวํ วาที มหาสมโณ”
    
แปลความหมายว่า สิ่งใดเกิดจากเหตุ พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงเหตุของสิ่งเหล่านั้น และความสิ้นสุดลงแห่งสิ่งเหล่านั้นด้วย กล่าวตามความหมายว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นมาจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง คือ ตั้งแต่สองสิ่งขึ้นไปสังเคราะห์กันเข้าเป็นสิ่งใหม่ และจะเปลี่ยนไปไม่คงเดิมเมื่อมีเหตุปัจจัยอื่นมารวมเข้าหรือมาแบ่งแยกออก

ความจริงของพุทธศาสนาศาสตร์เป็นความจริงทางอภิปรัชญา หรือเป็นความจริงสากลว่าด้วยระบบเหตุผลมีธรรมหลากหลายข้อความ เช่น อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท กฎแห่งกรรม และไตรลักษณ์ ถึงแม้จะมีหลายหลัก แต่ก็เป็นหลักที่แสดงถึงความจริงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ธรรมชาติชีวิตของสัตว์โลกผู้เข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้อง ผู้นับถือได้ว่าเป็นผู้เข้าถึงความจริงอันประเสริฐก็คือ รู้จักทางสายกลางหาใช่เข้าใจการดำเนินชีวิตอย่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ

ความทุกข์ของมนุษย์เป็นของจริงตามความที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ คือ ข้อแรกของอริยสัจสี่ แต่ความสุขเป็นเพียงสิ่งสมมติ เหตุเพราะความทุกข์ของมนุษย์เกิดจากสิ่งที่จำต้องสนองความต้องการของตัณหาที่มีอยู่กับชีวิตตัณหา คือ ความอยากเมื่อมนุษย์สนองความอยากได้เท่าใด สมมติสุขก็จะเกิดขึ้นมาเท่านั้น ความทุกข์ดูเสมือนคล้ายกับหายไป หรือลดลงแต่เมื่อคราที่ความต้องการวนเวียนกลับมาใหม่ ความทุกข์ก็รุมเร้า

การสนองตัณหาของมนุษย์ตามที่ธรราชาติเสนอมีอยู่ทุกขณะ จึงสร้างความยุ่งยากและยากยิ่งแก่การปฏิบัติตนเพราะพฤติกรรมของมนุษย์ถูกธรรมชาติกำหนดจึงขาดความเป็นอิสระ บางคนจึงเลือกวิธีการดำเนินชีวิตด้วยวิธีการโต่งสุด แต่บางคนเลือกการดำเนินชีวิตในทางที่ต่ำสุด จึงเกิดความคลาดเคลื่อนไปจากหนทางสายกลาง เมื่อไม่รู้ที่จะทำตนให้ถูกต้องตามวิถีทางที่เป็นกลางจึงมักเกิดความเสียหลักดำเนินชีวิตอย่างครึ่ง ๆ กลางๆ

วิธีการบำรุงบำเรอความสุขสนองความใคร่ตามที่ตัณหาเรียกร้องอย่างหมกมุ่นมากมายอยู่ในกามสุขเรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค ส่วนผู้มีคติในการดำรงชีวิตแบบตรงกันข้าม ใช้ชีวิตอยู่อย่างทนทุกข์ทรมานบีบคั้นให้ชีวิตต้องเต็มไปด้วยความลำบากและแสนประหยัด เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค ทั้งคติที่ต่ำสุดและคติที่โต่งสดที่ใช้กับชีวิตดังกล่าว ย่อมผิดหลักเกณฑ์ของทางสายกลางตามแบบชีวิตของพุทธะ

ความเป็นจริงของชีวิต คือ ความสมดุล หากชีวิตที่ดำเนินอย่างขาดความต่อเนื่องหยุด ๆ เดิน ๆ ครึ่ง ๆ กลาง ๆ เกิดความห่วงหน้าพะวงหลัง ละล้าละลัง วงจรชีวิตย่อมไม่ต่อเนื่องซึ่งเป็นเรื่องกล้ายกับไฟฟ้าลัดวงจรความเสียหายมีมากมายหากพฤติกรรมที่ผิดพลาดหนทางตามที่ตั้งจุดหมายไว้ ความสำเร็จในชีวิตขาดความปะติดปะต่อ ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจและเกิดผลร้ายได้ชั่วชีวิต

ความเข้าใจและการรับรู้ถึงการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องอย่างเป็นกลางเป็นการสร้างความมั่นคง ส่วนการดำเนินชีวิตที่ขาดความมั่นใจ เต็มไปด้วยความลังเลสงสัย พฤติกรรมแบบจับจดแตกต่างกันไปไกล เส้นทางชีวิตเดินผิดไปคนละสายเพียงความเข้าในในความหมายที่ผิดของคำว่า ทางสายกลางกลายเป็นครึ่ง ๆ กลาง ๆ     สังคมไทยจะเข้าใจหลักธรรมคำสั่งสอน ผู้ร่ำเรียนจะต้องทำตนให้เป็นอิสระ แล้วใช้ปัญญาของตนเองอย่างแท้จริง จึงจะช่วยทั้งตนเองและสังคมให้พ้นวิกฤตการณ์นานาชนิด ทั้งวิกฤตการณ์ทางศาสนา การศึกษาและโดยเฉพาะวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งหมดทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของคนในสังคมที่พร้อมจะทำตน เป็นคนที่ดำเนินชีวิตอย่างเป็นกลาง ๆ มิใช่ทั้งภารกิจของชีวิตไว้อย่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ

คนที่ถูกกำหนดชะตาชีวิตและถูกชักจูงไป ให้คล้อยตามความคิดของผู้อื่น จะถูกต้องเข้าสู่ที่คับขัน ตีบตนเป็นอันตราย จะกลายเป็นทาสของผู้มีอำนาจ และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของลัทธิต่าง ๆ ที่กำลังแข่งขันกันสร้างอำนาจลัทธิอุบาทว์ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ด้วยจุดมุ่งหมายของการครอบงำ ถือเป็นการทำสงครามล้างผลาญสติปัญญา และความคิดของคนทั้งชาติ

จุดหมายของพวกนิกายและลัทธิอุบาทว์ย่อมมุ่งตรงไปสู่สถาบันการศึกษา อันเป็นศูนย์รวมของคนหนุ่มสาวที่จะก้าวไปสู่การบริหารประเทศชาติในอนาคตกาล