เราจะเรียกจุติจิตเป็นจิตได้จะต้องอยู่ในกายที่มีสังขารและต้องรวมกับคลื่นคนธรรพ์แล้วเท่านั้น จิตของเราจะมีการเกิดดับทุกขณะที่เรียก“ขณิกะมรณา” ส่งต่อกันไปทุกขณะจิตในระดับภวังคจิต จิตที่เกิดดับ ๑ ขณะ เรียกว่าจิต ๑ ดวง จิตแต่ละดวงประกอบด้วย ๓ ขณะย่อย คือ เกิดขึ้น (อุปาทะ) ตั้งอยู่(ฐิติ) และดับไป(ภังคะ)ซึ่งจะเกิดดับในเวลาที่สั้นมาก เรียกว่าจิตเราอยู่ในสภาวะที่ตายแล้วเกิดใหม่ตลอดเวลา โดยข้อมูลกรรมที่สะสมไว้ทั้งหมด จะถูกถ่ายทอดต่อสู่จิตดวงใหม่ในสังขารเดียวกัน ลักษณะที่เป็นเนวสัญญา นาสัญญา คือเป็นจิตดวงเดียวกันก็ใช่ คนละดวงก็ไม่เชิง ดั่งเปลวไฟที่ลุกต่อเนื่องอยู่ในคบเพลิง ว่าเปลวไฟที่ลุกนั้นเป็นดวงเดียวกับที่จุดตอนแรกก็ได้ ต่างดวงกับที่จุดดวงแรกก็ได้ หรือคลื่นน้ำคลื่นหนึ่งที่กำลังพุ่งเข้าหาฝั่ง ว่าเป็นคลื่นๆเดียวกันกับจุดเริ่มต้นก็ได้ ว่าเป็นคลื่นต่างลูกกันก็ได้ เพราะตลอดเส้นทางการเคลื่อนที่ของคลื่นมีคลื่นเกิดดับอยู่ตลอดเวลา แต่โมเลกุลของน้ำนั้นไม่ได้เคลื่อนที่ไปด้วย มีเพียงแต่พลังงานเท่านั้นที่ถูกส่งผ่านจากโมเลกุลของน้ำโมเลกุลหนึ่งสู่โมเลกุลของน้ำข้างเคียงจนมองเห็นเป็นคลื่นเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งตลอดแนวการเคลื่อนที่ของคลื่น เหมือนสังขารของเราไม่ได้เคลื่อนย้ายไปไหน เพียงแต่คลื่นวิบากกรรมเท่านั้นที่ส่งต่อจากจิตดวงหนึ่งไปยังจิตอีกดวงหนึ่งได้อย่างครบถ้วน ตลอดเวลา ทั้งนี้ขณิกะมรณาจะเกิดขึ้นเฉพาะขณะที่ยังมีสังขารเท่านั้น เมื่อเราเสียชีวิตลง เฉพาะคลื่นกรรมที่เราเรียกว่าจุติจิตเท่านั้นที่จะสามารถถ่ายทอดไปยังภพต่อไปได้แต่จะไม่เกิดขณิกะมรณาอีก ทั้งนี้เมื่อคนเราตายแล้วต้องเกิดทันที ซึ่งอาจไปเกิดในภพภูมิที่ไม่มีสังขารก็ได้ จิตดวงสุดท้ายในชาตินี้หลังสังขารดับหรือหยุดขณิกะมรณาเราเรียกว่า “จุติจิต” เมื่อไปเกิดใหม่ในเซลปฏิสนธิเราจึงเรียกว่า “ปฏิสนธิจิต” ซึ่งจุติจิตนี้ได้บรรจุข้อมูลกรรมที่ทำมาไว้และถ่ายทอดข้อมูลกรรมที่ได้เก็บบันทึกมาทุกชาติ ส่งมายังปฏิสนธิจิตได้อย่างครบถ้วน กรรมที่มีจึงเป็นของเราจริงๆ ใครกระทำกรรมอะไรไว้ในอดีตไม่ว่าชาติใดๆก็จะถูกเก็บบันทึกอยู่ในภวังคจิตของเราทั้งหมด การที่เรามีชาติหน้านี่เอง จึงทำให้เกิดมีการเวียนว่ายตายเกิด เพราะถ้าไม่มีชาติหน้าก็ยากที่คนจะไปนิพพาน จิตชั่วจะนำไปสู่ภพภูมิที่เสื่อม ขณะที่เรายังไม่ตายยังมีสังขาร จิตของเราจะรับรู้ความรู้สึกจากอายตนะหรือจากประสาทสัมผัส แต่หากเราตายลงหรือสังขารหยุดทำงาน จิตของเราจะไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกจากอายตนะทางสังขารได้ จิตจึงรับรู้ได้แต่ข้อมูลในระดับภวังคจิต จิตจึงรับได้เพียงภาพกรรมในอดีตที่เก็บไว้ในภวังคจิต มาปรากฏให้เห็นเด่นชัด ดังนั้นเมื่อจิตเห็นกรรมใดก็จะไปเกิดตามอำนาจกรรมหรือภาพนิมิต
เรียงลำดับการส่งภาพนิมิตการเกิดซึ่งเป็นผล จากก่อนไปหลัง
๑ ครุกรรม หมายถึงกรรมหนัก กรรมฝ่ายดี คือสมาบัติ ๘ กรรมฝ่ายบาป คืออนันตริยกรรม ๕ ใครทำกรรมหนักไว้ภาพของ กรรมหนักจะปรากฏให้เห็นในจิตก่อนกรรมอื่นๆ ส่วนใหญ่ครุกรรมใช้เรียกกรรมฝ่ายบาป อนันตริยกรรม ๕ ได้แก่ฆ่าพ่อแม่ ฆ่าพระอริยะ ทำให้พระพุทธเจ้าพระโลหิตห้อ ทำคณะสงฆ์แตกแยก ส่วนใหญ่ครุกรรมใช้แทนกรรมฝ่ายบาป ใครทำกรรมหนักไว้ กรรมนี้เป็นกรรมหนักไม่มีลดหย่อนเทียบกับหมัดหนัก หมัดน๊อค การชดใช้ครุกรรมจะใช้แยกไม่เป็นกรรมรวมกับใคร ถึงจะบรรลุอรหันต์แล้วก็ยังต้องชดใช้ สำหรับกรรมธรรมดาที่เรียกว่ากรรม ๓ ซึ่งมักจะไม่รุนแรงนัก บางครั้งแค่กำหนดจิตสวดมนต์ภาวนา ระลึกคุณบิดามารดา หรือบูชาด้วยเครื่องเส้น บางทีก็หลุดพ้นแล้ว
๒. อาจิณณกรรม กรรมที่ทำจนชิน เป็นอาจิณ ทำจนเป็นนิสัยเป็นกรรมที่มีน้ำหนักรองลงมา
๓ อาสันนกรรม กรรมที่ทำก่อนตาย
๔. กตัตตากรรม กรรมที่สักแต่ว่าทำ หรือทำด้วยเจตนาอันอ่อน น้ำหนักจึงน้อยสุด
ภาพกรรมนิมิตที่เห็น
๑. กรรม เห็นภาพการก่อกรรมต่างๆในอดีต
๒. กรรมนิมิต เห็นสัญลักษณ์กรรม
๓. คตินิมิต เห็นภาพเกี่ยวกับที่ ๆ จะไปเกิด
มีลักษณะการกำเนิด ๔ ลักษณะ คือ
๑. อัณฑชโยนิ เกิดในฟอง
๒. ชลาพุชโยนิ เกิดในครรภ์
๓. สังเสทชโยนิ เกิดในของโสโครก
๔. โอปปาติกโยนิ เกิดขึ้นเองและเติบโตทันที
คนที่ทำกรรมดีมามากสั่งสมบารมีมามาก พวกนี้บุญกุศลจะส่งให้ไปเกิดในสถานที่ดีๆ มีอาหารและความเป็นอยู่ที่ล้วนประณีต มีความสุข เหนี่ยวนำให้อยู่ในสถานที่ดีๆได้ทานอาหารดีๆ ส่วนในทางตรงกันข้าม คนที่ก่อกรรมทำเข็ญมามาก มักจะไปเกิดเป็นสัตว์ชนิดอื่นๆ ซึ่งมันก็จะมีธรรมชาติในการดำรงชีวิตของมัน จะให้มันมากินอยู่แบบมนุษย์ ซึ่งอยู่กินด้วยอาหารที่ปราณีต มันก็ไม่เอา มันอยู่ไม่ได้ เรียกได้ว่าต้องมามีชีวิตใหม่ สุขอยู่กับผลของบาปตนที่ได้ทำมา
การแสดงออกของกรรม
การแสดงออกของกรรมจะส่งผลออกมาในรูปของ ราศี รัศมี และ รังสี รวมเป็น “อำนาจ”ที่เรียกว่า สมบัติ (ฝ่ายดี) กับวิบัติ (ฝ่ายไม่ดี) มี ๔ อย่าง ดังนี้
สมบัติ ๔
๑. คติสมบัติเกิดในสถานที่ดี สถานการณ์เอื้ออำนวย
๒. อุปธิสมบัติร่างกาย หน้าตา บุคลิกภาพ สุขภาพดี
๓. กาลสมบัติเกิดจังหวะเวลาดี เหมาะสม
๔. ปโยคสมบัติความพร้อมแห่งความเพียร เกิดมาแล้วมีความเพียรพยายาม และประสพความสำเร็จได้ตรงความต้องการ
วิบัติ ๔
๑. คติวิบัติเกิดในสถานที่ไม่ดี หรือทางดำเนินไม่ดี หรือทำกิจไม่ถูกเรื่องไม่ถูกที่ ทำแต่สิ่งไม่ดี
๒. อุปธิวิบัติร่างกาย หน้าตา สุขภาพไม่ดี หรือบุคลิกไม่ดี เจ็บป่วยง่าย มีโรคมาก
๓. กาลวิบัติเกิดจังหวะเวลาไม่ดี เกิดอยู่ในช่วงสังคมเสื่อมจากศีลธรรม ยกย่องคนชั่ว บีบคั้นคนดีทำผิดกาลเวลา
๔. ปโยควิบัติ ฝักใฝ่ในทางที่ผิด ประกอบกิจการงานที่ผิด ทำดีก็ทำไม่ถึงขนาด ไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ใช้วิธีการไม่ตรงกับเรื่อง เกิดมาแล้วเพียรพยายามเท่าใดก็ไม่ประสพความสำเร็จตรงตามที่ได้ตั้งใจ ทั้งนี้ การแสดงออกของกรรมนอกจากจะต้องอาศัยเหตุ คือกรรมแล้ว ยังต้องอาศัยฐาน คือ คติ อุปธิ กาละ และปโยคะ ประกอบด้วยเพราะนิยาม หรือกฏธรรมชาตินั้นมีหลายอย่าง ไม่ได้มีแต่เพียงกรรมนิยามเพียงอย่างเดียว
นิยามหมายถึงกฏอันแน่นอนของธรรมชาติ มี ๕ อย่างคือ
-
อุตุนิยามได้แก่กฏธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิ,ปรากฏการธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะ ดิน น้ำ อากาศ และฤดูกาล - พีชนิยามได้แก่กฏธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์มีพันธุกรรม เป็นต้น
- จิตตนิยามได้แก่กฏธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต
- กรรมนิยามได้แก่กฏธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ และกระบวนการให้ผลของการกระทำ
- ธรรมนิยามได้แก่กฏธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ และอาการที่เป็นเหตุเป็นผล แก่กันแห่งสิ่งทั้งหลาย