จิตกับอารมณ์
จิต ตามหลักพื้นฐานของอภิธรรมความหมายของโลกและชีวิตคือจิตรับรู้อารมณ์ จิตนั้นจะเกิดได้เมื่อมีกายครองหรือมีสังขาร โดยปกติจิตจะรับรู้อารมณ์จากอายตนะทั้ง ๖ ที่ปรุงแต่ง เรียกได้ว่าจิตเป็นธรรมชาติฝ่ายรับรู้ ส่วนอารมณ์เป็นธรรมส่วนการแสดงออกตามอาการต่างๆ จิตจำเป็นต้องมีอารมณ์ เป็นที่อาศัยยึดเหนี่ยวเสมอ ดังนั้นอารมณ์จึงมีชื่อเรียกว่า อาลัมพณะ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นที่ยึดเหนี่ยวของจิต และเจตสิกคือธรรมที่ประกอบกับจิตทั้งหลาย ดังนั้นจิตกับอารมณ์จึงต้องเกิดคู่กันเสมอ จิตรับรู้อารมณ์ใด เจตสิกก็รู้และกระทำหน้าที่เฉพาะของตนต่ออารมณ์นั้นด้วยพร้อมกัน เป็นไปไม่ได้ที่จิตจะเกิดขึ้นว่างๆโดยที่ไม่ได้ยึดเหนี่ยวอารมณ์ใดๆเลย แม้แต่ความว่างก็เป็นอารมณ์หนึ่งที่สามารถให้จิตยึดเหนี่ยวได้ หรือแม้แต่ โลกุตระจิตก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นจิตที่ว่างจากอกุศลมูล แต่มิได้หมายความว่าเป็นจิตที่ว่างจากอารมณ์ จิตไร้ขอบเขต มีระเบียบ แต่ไม่มีวินัย สามารถคิดพิจารณาเป็นขั้นเป็นตอนและจะไม่มีข้อบังคับ เมื่อสังขารสิ้นไปเราจะไม่เรียกจิต เหลือเพียงตัวร้ทางวิญญาณเท่านั้น
เราสามารถเรียกชื่อของจิตตามโอกาสต่างๆได้ดังนี้
๑. สภาพที่คิด จิต
๒. สภาพที่น้อมไปทางอารมณ์ มโน
๓. สภาพที่รวบรวมอารมณ์ไว้ภายใน หทัย
๔. สภาพที่มีฉันทะในใจ มานัส
๕. สภาพที่ผ่องใส ปัณฑระ
๖. สภาพที่เป็นเครื่องต่อรอง มนายตนะ
๗. สภาพที่ครองความเป็นใหญ่ มนินทรีย์
๘. สภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ วิญญาณ
๙. สภาพที่เป็นขันธุ์ เป็นกอง วิญญาณขันธุ์
๑๐.สภาพที่เป็นธาตุรู้แจ้งในอารมณ์ มโนวิญญานธาตุ
การสงบจิตมิได้เป็นการสงบกิเลส เพียงแต่ว่าเราเก็บกดมันไว้ การสงบจิตด้วยปัญญาจึงเป็นวิธีเดียวเท่านั้น ที่จะถอนกิเลสไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างถาวร
ลักษณะของจิต
๑. ชอบเที่ยวไปในที่ไกลๆ
๒. ชอบเที่ยวไปผู้เดียว ตามลำพัง
๓. ไม่มีตัวตน
๔. ต้องมีกายครอง โดยอาศัยอยู่ในสมอง
คุณอาการของจิต
- ชอบดิ้นรน
- กวัดแกว่ง
- เห็นยาก
- ข่มยาก
- ห้ามยาก
- รักษายาก
- เกิดดับเร็ว
- มีความละเอียดอ่อนมาก
- ชอบตกในอารมณ์ที่น่าใคร่
จิตว่างจากกิเลส แบ่งออกได้ ๓ ระดับชั้น คือ
- ว่างโดยบังเอิญตามธรรมชาติ
- ว่างโดยการข่มบังคับ จึงยังกลับมาใหม่ได้
- ว่างโดยใช้ปัญญา ขั้นสมุจเฉทวิมุติ เจริญด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ถึงพร้อมจนสามารถปล่อยวางได้ไม่ไหวไปตามอารมณ์ที่แกว่งไกวตามคุณอาการของจิต
อารมณ์ หมายถึงสรรพสิ่ง หรือสรรพธรรม หรือทุกสิ่งที่รับรู้ได้โดยจิต รวมทั้งเจตสิกทุกประเภทด้วย อารมณ์ไร้ขอบเขตไม่มีระเบียบ ไม่มีวินัย เปลี่ยนแปลงตลอด เป็นลักษณะของเวทนาที่ปรุงแต่ง เกิดง่ายหายเร็วซึ่งสามารถแบ่งตามอายตนะที่ผัสสะได้ ๖ ทางคือ
- รูปารมณ์ได้แก่สิ่งต่างๆ
- สัททารมณ์ ได้แก่ เสียงต่างๆ
- คันธารมณ์ ได้แก่ กลิ่นต่างๆ
- รสารมณ์ ได้แก่ รสต่างๆ
- โผฏฐัพพารมณ์ ได้แก่สิ่งที่ต้องกาย ได้แก่ ปฐวีรูป มีสภาวะลักษณะ อ่อน แข็ง , เตโชรูป มีสภาวะลักษณะ เย็น ร้อน และ วาโยรูป มีสภาวะลักษณะหย่อน ,ตึง
- ธรรมารมณ์ได้แก่ ปสาท๕, สุขุมรูป ๑๖, จิต ๘๙หรือ ๑๒๑, เจตสิก ๕๒บัญญัติ และ นิพพาน
ทั้งนี้สามารถจำแนกอารมณ์ ออกเป็น
- กามอารมณ์ มีองค์ธรรมคือ กามจิต ๕๔, เจตสิก ๕๒ , รูป ๒๘ เทียบได้เป็นอารมณ์ทั้ง ๖ ทวาร
- มหัคคตอารมณ์มีองค์ธรรมคือ มหัคคตจิต , เจตสิก ๓๕ , เทียบได้เป็นธรรมารมณ์ทางมโนทวาร
- โลกุตตระอารมณ์ มีองค์ธรรมคือโลกุตตระจิต ๘ , เจตสิก๓๖ และนิพพานเป็นธรรมารมณ์ทางมโนทวาร
- บัญญัติอารมณ์ มีองค์ธรรมคือ อัตถบัญญัติ และสัททบัญญัติ เป็นธรรมารมณ์ทางมโนทวาร
กามอารมณ์ และ มหัคคตอารมณ์ นั้นรวมเรียกว่าเป็นโลกียอารมณ์
๑. อารมณ์ทุกข์ ได้แก่อารมณ์ป่วนจิต เกิดง่าย หายไว
๒. อารมณ์สุขเป็นลักษณะของ จิตเสวยอารมณ์ อารมณ์ปราณีต
๓. อารมณ์กลางๆเป็นลักษณะของจิตรับรู้อารมณ์ อันสามารถคิดได้เป็นระเบียบ ทีละอย่าง.
จิตใจ
เกิดจากของผสม เป็นมายาคล้ายแสงสว่างที่เกิดจากการเสียดสีกันจนลุกเป็นไฟ คล้ายเสียงกลองที่เกิดจากการตีกลองกระทบหนังมีหน้าที่การทำงาน ๔ อย่างคือ
- รู้สุขรู้ทุกข์ เวทนา
- รู้จำสิ่งที่ผ่านไปแล้ว สัญญา
- รู้ปรับปรุง แต่งเติม สังขาร
- รู้ดีรู้ชั่ว วิญญาณ ธาตุรู้
หน้าที่การทำงาน ๔ อย่างของจิต
คือ รู้ทุกข์สุข รู้จำ รู้ปรับปรุง และปรุงแต่ง รู้อย่างเข้าใจ ดังนี้
๑. รู้สุขรู้ทุกข์ เรียก เวทนา
๒. รู้จำสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เรียก สัญญา
๓. รู้ปรับปรุง แต่งเติม เรียก สังขาร
๔. รู้ดีรู้ชั่ว เรียก วิญญาณ ธาตุรู้
อารมณ์มีหน้าที่รับรู้ ส่วนคิด และ จำ เป็นหน้าที่ของจิต ส่วนการรู้แจ้งแทงตลอดนั้นจะเกิดในระดับวิญญาณ อารมณ์และจิตหากจะรวมกันให้สนิท และแยกให้เด็ดขาด ต้องมีสัมมาสมาธิ มีสติปัฏฐานที่ดี และ มีสัมมาสติ หากอารมณ์ไม่ดีหรือมีความวุ่นวายใจ อารมณ์จะป่วนจิต อารมณ์ปานกลางคือจิตรับรู้อารมณ์ หากเราเกิดมีผัสสะหรือที่เรียกว่า ผัสสาหารแล้วไม่มีมโนสัญญามาต่อเนื่อง ก็จะทำให้ผัสสะที่เราได้นั้นหายไป ไม่มีธาตุรู้ต่อ ส่วนจิตวิญญาณ นั้นไร้ขอบเขต มีระเบียบ มีวินัย การที่เราสามารถฝึกจิตให้คิดและพิจารณาเป็นขั้นตอน ซับซ้อนยอกย้อนจนเกิดเป็นตัวรู้แจ้งแทงตลอดได้นั้น จะทำให้วิญญาณกับจิตที่เปี่ยมไปด้วยตัวรู้ในลักษณะนี้อยู่ในสภาวะที่เสถียรมากขึ้นตามลำดับ
อารมณ์ จิต
ผัสสะ มโนสัญญา (รับรู้) ธาตุรู้ (คิดจำ)