สำนักสหปฏิบัติฯ

         ในความเป็นจริงในปัจจุบัน คนที่ยังไม่มีความมั่นคงในพรหมวิหาร ๔  เมื่อโดนสิ่งใดมากระทบหรือที่เรียกว่ามีผัสสะ ทั้งในทางบวกหรือทางลบ คนเหล่านั้นส่วนใหญ่ ก็มักจะไม่สามารถควบคุมอารมณ์เหล่านั้นได้ บ้างก็ปล่อยจิตใจให้ฟูฟ่องดีใจ หรือไม่ก็จิตใจแฟบห่อเหี่ยว หากเราไม่สามารถควบคุมอารมณ์ให้วางเฉยได้ เมื่อมีกรรมมากระทบ หรือปล่อยให้จิตของเราล่องลอยไปตามยถากรรม ย่อมไม่เป็นผลดีกับเราทั้งสิ้น ทั้งกับสิ่งที่อยู่ในสามัญวิสัย และเหนือสามัญวิสัย เพราะฉะนั้นการควบคุมอารมณ์ให้ได้และ การรู้เท่าทันจิต ด้วยสติที่ต้องมีอุเบกขานั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการต้านกรรม โดยเฉพาะกรรมหนัก เช่นครุกรรม ขณะเดียวกัน การทำจิตให้อยู่ในอุเบกขา ถือเป็นด่านแรกของจิตใจเราในขั้นตอนการรับรู้  หากจิตฟู หรือ แฟบ ใจเราย่อมไม่มีทางสงบ เรียกว่าจิตร้อนจึงเป็นสุขได้ยาก ดังนั้นพรหมวิหาร๔  จึงถือได้ว่าเป็นปราการสำคัญในการต้านกรรม
              อุเบกขาคือ  การที่เรามีความรู้แจ้งแทงตลอด เข้าใจในเรื่องกฎแห่งกรรม และการบริหารกรรมเป็นอย่างดี นั่นคือจิตเราย่อมรับรู้เท่าทันตามความเป็นจริงในแต่ละเหตุการณ์ที่มากระทบ หรือสามารถนิ่งเฉยอยู่ได้ตามความเป็นจริงด้วยปัญญา ต่างจากภาวะเฉยโง่ที่ขาดปัญญาในการพิจารณาเหตุ  ซึ่งเราไม่สามารถกล่าวได้ว่ามีอุเบกขาแล้ว แต่เป็นการวางนิ่งชนิดเก็บกดเอาไว้ ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเหตุนั้นๆ  จนสามารถวางเหตุนั้นได้ด้วยปัญญา  ซึ่งอุเบกขาถือว่าเป็นด่านแรกของจิตเราที่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับกรรมที่มาปะทะให้ได้อยู่เสมอ เพราะภาวะจิตที่เป็นอุเบกขาจะเป็นเอกัคคตาธรรมมารมณ์มีพลังและมีฤทธิ์มาก อุเบกขาของพระอรหันต์เท่านั้นที่มีเต็มร้อย ส่วนอุเบกขาของปุถุชนทั่วไปนั้นยังมีไม่เพียงพอ จิตของเราจึงยังหวั่นไหวอยู่ ทั้งนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจิตของแต่ละคน คิดได้ ปลงได้ เข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน ในแง่มุมของสิ่งเหนือสามัญวิสัยนั้น ถ้าหากว่าอุเบกขาเรายังมีไม่พอ  เราสามารถใช้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เทวาปาฏิหาริย์ ฤทธานุภาพ และเทวานุภาพ  เข้าช่วยได้ เช่นโดยการใช้เครื่องเซ่นไหว้ ตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ  ซึ่งถ้าเป็นระดับจิตที่ ไม่ลึกมาก เราอาจใช้พิธีกรรม หรือเครื่องเซ่นไหว้ ผ่านทางคณะเทพหรือเทวดาใน ๖ ชั้นฟ้า มาช่วยกันต้านกรรมให้เราได้ กรรมเหล่านั้นแบ่งได้ออกเป็น ๓ ลักษณะดังนี้คือ
               ๑.   อาจิณณกรรม    กรรมที่ทำจนชิน เป็นอาจิณ ทำจนเป็นนิสัย
               ๒.   อาสัญญกรรม   กรรมที่ทำก่อนตาย
                ๓   กตัตตากรรม     กรรมที่สักแต่ว่าทำ หรือทำด้วยเจตนาอันอ่อน
           เนื่องจากเทวดาใน ๖ ชั้นฟ้านี้ ยังคงมีวิสัยใกล้มนุษยภูมิ และยังต้องการเครื่องเซ่นไหว้ เพราะฉะนั้นวิธีการแก้ปัญหา หรือการทำให้อุปสรรคต่างๆในชีวิตให้เบาบางลง  จึงสามารถทำได้โดยการตั้งจิตอธิษฐาน ถวายเครื่องเซ่นไหว้ต่อเทพยดาเหล่านั้น