สำนักสหปฏิบัติฯ

คนจะยิ่งใหญ่ ต้องเข้าใจธรรมชาติ



สิ่งมีชีวิตทั้งสามชนิดของโลก อันได้แก่ ต้นพืช ตัวสัตว์ และ ร่างกายของคน แตกต่างกันตามรูปร่างขนาดของเผ่าพันธุ์ และปัจจัยในการเลี้ยงดู ผักหญ้ามีขนาดเล็กกว่าไม้ยืนต้น มดและแมวตัวเล็กๆ ช้างตัวโต เสือตัวใหญ่ ทั้งต้นพืชและตัวสัตว์มีประโยชน์และคุณค่าตามความต้องการอย่างไม่มีวันหยุดยั้งของมนุษย์ พืชและสัตว์ได้รับความสำคัญเพียงแค่จำนวนและน้ำหนัก ตลอดจนความต้องการใช้ประโยชน์จากมันเท่านั้น

เมื่อมีความประสงค์จากพืชและสัตว์ มนุษย์ก็โก่งราคาพืชและสัตว์ แต่เมื่อหมดความต้องการก็กดราคาจนแทบจะหาค่าไม่ได้ นำมาปลูก นำมาเพาะพันธุ์ หรือทำลายและล้มล้างมัน จนลืมความสัมพันธ์ที่สำคัญในคุณค่าของระบบนิเวศนวิทยา ซึ่งต้องรักษาสมดุล อีกทั้งคำภาวนาแต่ดั้งเดิมมาให้นึกถึงการแผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันตามคติธรรม

ความต้องการของมนุษย์ มักจุดชนวนความรู้สึก และจุดประกายความคิด เพียงเพื่อสนองความต้องการของตน ตามที่เรียกว่า ประโยชน์เฉพาะหน้า คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ  การแสวงหาประโยชน์สนองตัณหา เช่น การสนองความเหงาของมนุษย์ ปัจจุบันก็มีแปลกๆกัน และความสุขชั่วคราว ด้วยการตัดไม้ทำลายป่า บ้างก็แลกความสุขเฉพาะหน้าด้วยการไปซื้อชีวิตเขาอื่น เช่น สัตว์ป่าน่าสงสารต่างๆ มาเพื่อปรนเปรอ ความสนุก ซื้อลูกลิงค่างบ่างชะนี ซื้อหาลูกหมาลูกแมว มาเลี้ยงให้คลายเครียดคลายเหงา ไม่ได้เอามาเลี้ยงด้วยหลักแห่งความเมตตา  เมื่อเบื่อหน่ายขึ้นมาก็ปล่อยให้อดๆอยากๆ ปล่อยทิ้งปล่อยขว้าง แม้แต่บนทางด่วนที่แสนจะอันตราย ก็มีคนใจร้ายเอาหมาเอาแมวไปปล่อยไว้ให้เห็นอยู่บ่อยๆ
นี่หรือมนุษย์ที่เกิดร่วมโลกเดียวกันกับเขาเหล่านั้น เมื่อไรจะได้คิดบ้างว่า เขาก็ชีวิตหนึ่ง เราก็เป็นชีวิตหนึ่ง ซึ่งเหมือนกันในความแตกต่าง

มนุษย์ก็คือสัตว์โลก แต่เป็นสัตว์ประเสริฐที่ยกย่องกันเอง ในขณะเดียวกัน ก็แบ่งแยกกันเองด้วยสีผิว สัญชาติ ฐานะ หน้าที่การงาน โดยสัตว์มิได้มารับรู้ด้วย  ตีค่าความแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น เพียงแค่ตอนที่ยังดำรงชีวิตอยู่ ส่วนตอนเกิดและตอนตายก็มีลักษณะตามธรรมชาติคล้ายๆกันคือ เกิดและดับ ปัจจุบัน มีการบัญญัติศัพท์ขึ้นใหม่ในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ นักวิชาการก็จัดสรรมนุษย์เป็นทรัพยากร และเป็นทุนอย่างหนึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งแสดงความหมายว่า เรามองมนุษย์เป็นเพียงเครื่องมือ หรือเป็นทุนที่จะใช้สนองความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งในการพัฒนาสังคม

ในสาขาอาชีพของแต่ละคนย่อมมีจุดหมายนำพาชีวิตหน้าที่การงานของตน เพื่อดั้นด้นผลักดันไปให้ถึงดวงดาว ตามที่ตนเองหมายมั่นไว้ แต่ส่วนใหญ่มักตะกายไปไม่ถึง เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์   ผู้ตะกายไปไม่ถึงดวงดาวคือจุดสูงสุดแห่งความสำเร็จนั้น ต่างก็มีคุณสมบัติครบครัน สมบูรณ์ในอาชีพของตน ปริศนาชวนฉงนนี้ ได้นำมาวิเคราะห์เสาะหาสาเหตุกันกว้างไกล แต่ส่วนมากไม่เจาะให้ลึกลงไปถึง สัมปรายิกัตถะ อันหมายถึงประโยชน์ทีเลยนัยน์ตาธรรมดาจะมองเห็น และไม่แหงนมองขึ้นเบื้องสูง เพื่อมุ่งให้เกิดประโยชน์อันสำคัญ คือ ปรมัตถะ อันหมายถึงประโยชน์เบื้องสูง หรือประโยชน์อันสูงสุด

การวิเคราะห์ถึงปัญหาของผู้คนแต่ละอาชีพ ส่วนมากได้เพียงแค่ขั้นทิฏฐธัมมิกัตถะอันเป็นประโยชน์เฉพาะหน้า ดังกล่าวมา ธรรมชาติได้กำหนด กฎเกณฑ์ กติกา ให้สรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย  พืชและสัตว์จัดเป็นประเภทว่านอนสอนง่ายดำรงชีวิตอยู่ของมันตามที่ธรรมชาติกำหนด  แต่ปรากฏสิ่งมีชีวิตที่มีความฉลาด แต่ขาดความเฉลียว คือมนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้ มีความคิดที่เป็นไปในทาง ทิฎฐิ ดื้อ ต่อธรรมชาติและมีอติมานะ ดื้อรั้นต่ออำนาจของฟ้าดิน เกิดมีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์ จะเอาชนะธรรมชาติ อุปมากับการประกาศท้าทายอำนาจฟ้าดิน พัฒนาเพื่อแสวงหาความสำเร็จให้แก่มวลมนุษย์ โดยยึดจุดของผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์มาเป็นหลักในการพัฒนาสถานเดียว ตะลุยสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างฉลาด แต่ขาดความเฉลียวเกี่ยวกับการทำลายสิ่งแวดล้อมและฝืนกฎของธรรมชาติ เริ่มตั้งแต่ธรรมชาติในกาย ในจิต แหละในวิญญาณแห่งตน มิได้ค้นหา ข้อเท็จจริงว่าธรรมชาติอันยิ่งใหญ่และใหญ่ยิ่ง เป็นอำนาจของจักรวาล  ถ้าใครยังต้องอาศัยอยู่ในจักรวาล ก็ไม่สามารถที่จะเอาชนะธรรมชาติ ทั้งในตัวเองและธรรมชาติสิ่งแวดล้อมได้เลย

ธรรมชาติมีความยิ่งใหญ่และกว้างไกล เร้นลับและลึกลับ แต่จัดแบ่งกันโดยมิติอันพิสดาร  มิติสามัญที่เรียกว่า สิ่งสามัญวิสัยหรือสามัญลักษณะหมายถึงสิ่งที่ปรากฏและกิจทั่วไปที่จับตามองเห็นได้เป็นปกติธรรมดา ส่วนอีกมิติหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นมิติเหนือสามัญลักษณะ มิตินี้มีความเร้นลับและลึกลับ ผลุบๆโผล่ๆ ปิดบังซ่อนเร้นอำพรางสิ่งที่เป็นคุณอนันต์และโทษมหันต์

ธรรมชาติค่ายหรือฝ่ายนี้ มีอิทธิพลดลบันดาลให้มนุษย์สำเร็จจุดหมายในผลงานไม่ว่ามนุษย์ต้องการความสมหวังระดับไหน ถ้าเข้าใจธรรมชาติฝ่ายเร้นลับที่จำต้องรับรู้ด้วยจิตอันสมฤทธิ์และครบวงจรเท่านั้น หรือจะเรียกอีกความหมายหนึ่งว่า ธรรมชาติฝ่ายอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่อิทธิปาฏิหาริย์ในที่นี้ ไม่ได้มุ่งชี้ที่จะสร้างความลุ่มหลงงมงายหรือเหลวไหล ให้ผู้ใฝ่ศึกษาและใฝ่ปฏิบัติ  แต่มุ่งหมายมิติอันมหัศจรรย์ซึ่งเป็นธรรมชาติ แต่มีความอำพรางทางจิตมากมาย ผู้ใดใฝ่แสวงหาความยิ่งใหญ่ให้ได้มาซึ่งโภคทรัพย์ และอำนาจ อาจต้องทำใจเป็นกลางๆ สร้างคติธรรม  ทบทวนกระแสแห่งศรัทธาให้สอดคล้องกับกระแสของปัญญา ซึ่งกระแสปัญญาของคนยุคใหม่ที่แสนจะภาคภูมิใจในสิ่งผลิตผลของความรู้ใหม่ๆ ก็ไม่ผิดอะไรกับความรู้อันล้าสมัยของคนยุคปัจจุบัน อันแสนจะทันสมัย หรือล้าสมัยของคนโบร่ำโบราณ



รูปแบบมากกว่าสาระ

มนุษย์นับอายุของตนเองเป็นขวบ ปี แต่ละชนชาตินับวันเริ่มต้นและสิ้นสุดของปีต่างกันไป เช่น ชาวจีน ยึดวันชิวอี้ดเป็นวันขึ้นปีใหม่  ส่วนชาวไทยก็ยึดวันสงกรานต์ ครั้นพอนานๆโลกก้าวเข้ายุคสัมพันธ์ การนับ วัน เดือนและปี ถือตามชนชาติไม่สะดวกในการติดต่อกัน จึงหันมาใช้วันขึ้นปีใหม่แบบสากลกันทั่ว  ความกลมกลืนแห่งการถือคติปีสากลสอดคล้องกันนั่นมิได้หมายความถึงว่า การทำกิจกรรมใดๆของมนุษย์ที่อยู่กันคนละจุด คนละแห่ง มีความแตกต่างกันทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่และจิตใจ ใช่ว่าจะต้องมุ่งทำอะไรไปในทิศทางเดียวกัน แต่พฤติกรรมที่ปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้มักเห็นเป็นเช่นนั้น ตามศัพท์เมื่อสำนวนไทยที่ว่า “เดินตามก้นเขาไป” โดยเฉพาะเมื่อเห็นว่าผู้ใดยิ่งใหญ่กว่า โดดเด่นหรูหรา ส่วนมากเป็นความสวยหรูทางวัตถุธรรม มักเป็นผู้นำทางรูปแบบ

รูปแบบ บางรูป บางแบบ แทบไม่มีสาระแก่นสารอันใด หรือถ้ามีก็เป็นสาระที่มิได้สอดคล้องกลมกลืนกัน ได้ผลดีต่อชนบางชาติเท่านั้น  ที่มุ่งหมายบ่ายหน้าสู่ทิศทางเอาอย่างชนชาติที่เขาเจริญแล้ว แต่เป็นเพียงความเจริญทางด้านหนึ่งด้านใด เช่น ความเจริญทางด้านวัตถุ อุตสาหกรรม ชนชาติที่ไม่พร้อมด้วยเหตุปัจจัยที่ใช้ในการพัฒนา แล้วไปมุ่งเพียรพัฒนาเอาอย่างเขา ก็มีสิทธิที่จะกลายเป็นความอุตสาหะที่เสียผลประโยชน์หรือเปล่าประโยชน์ กลับกลายเป็นความอุตสาหะหาเวรหากรรม  สร้างเวรสร้างกรรม  ให้แก่ตนเองและหมู่คณะ  เพราะไปมุ่งแต่รูปแบบ โดยปราศจากการพิจารณาสาระ คือ เนื้อหาลอกเลียนกันได้  ถ้าเนื้อหาสาระมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ถ้าใช้ปัญญาพิจารณากลไกของเนื้อหาสาระให้ดี รูปแบบของที่เป็นเฉพาะตน  อาจเป็นรูปแบบที่แยบยลและแยบคายเหนือกว่าของคนอื่นมากมาย  ไม่มีความจำเป็นเสมอไปที่จะเอารูปแบบของเขามาใช้

การเอารูปแบบของผู้อื่นหยิบฉวยมาใช้  ตัวอย่างเห็นได้ชัด  เช่น ประเพณีวันวาเลนไทน์ของฝรั่ง  แต่วัยรุ่นหนุ่มสาวชาวไทยกลับเอามา  แล้วให้ความสำคัญ  ให้ความสนใจมากเสียยิ่งกว่าฝรั่งเองด้วยซ้ำไป รูปแบบของความรักของคนไทยกลับถูกมองข้ามไป  บางคนยังไม่รู้จักว่าวันแห่งความรักของชาวไทยซึ่งมีอยู่หลายวัน เช่น วันความรักของครอบครัว ทางราชการได้กำหนดวันที่ 14 เดือนเมษายนของทุกปีไว้ให้  และวันแห่งความรักของชาวไทยซึ่งมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ คือ วันมาฆะบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี เป็นต้น

ความไม่สอดคล้องต้องกันในเรื่องของรูปแบบและเนื้อหาสาระ ที่จะแจ้งเจิดจ้าในจิตใจเป็นสาเหตุใหญ่  ทำให้พฤติกรรมการกระทำลอกเลียนแบบเขาขาดความสนิทแนบเนียนไป ผลที่ขาดความถ่องแท้มิได้มีเพียงแค่ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น ย้อนกลับมาเกิดเป็นโทษอย่างมหันต์ได้อีกหลายเท่าทวี

การแก้ไขปัญหาที่ไม่เข้าใจเนื้อหาสาระ  และขาดความเข้าใจในรูปแบบที่เป็นมา  ทางด้านวัตถุธรรม  ยังพอนำมาชี้โทษชี้คุณให้เห็นได้ในลักษณะที่เป็นรูปร่าง มีตัวอย่างอ้างอิงได้
    
การแก้ไขและเปลี่ยนแปลงทัศนคติทางด้านจิตใจ และที่ลึกลงไปยิ่งกว่านั้น คือ ความเชื่อหรือยึดมั่นถือมั่นในเรื่องของจิตวิญญาณ ที่เป็นเรื่องศรัทธากันจนถึงขั้นงมงาย  เป็นเหตุให้ฝ่ายที่มีอคติต่อการสัมผัสในพฤติกรรมเรื่องของความเชื่อเหล่านี้  ซึ่งตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์  บ้างถึงกับออกโรงวิพากษ์วิจารณ์  ซึ่งก็เป็นเรื่องดี เพราะมองเห็นถึงภัยอันตรายของผู้ที่เชื่ออย่างงมงาย  ผสมผสานกับความโง่ และมักง่าย  ดูได้จากบรรยากาศของสังคมที่กำลังลุกขึ้นมาท้วงติงผู้ที่อ้างตนว่าทำหน้าที่เป็นร่างทรง กล่าวอย่างประนีประนอมก็ต้องว่า  ทั้งผู้กล่าวหาและผู้ที่เป็นฝ่ายถูกกล่าวหา  ล้วนแต่น่าเห็นใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย  ถ้าแต่ละฝ่ายขาดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเนื้อหาสาระที่สอดคล้องต้องกันกับรูปแบบ
ถ้าฝ่ายปฏิบัติการในงานประทับทรง บอกไปตรงๆ ว่าฉันไม่ได้บ้าใบ้หรือมีเจตนาจะหลอกลวงใคร ฉันเพียงทำหน้าที่เป็นตัวเครื่องปรับ (TUNER) ทำหน้าที่ปรับให้ภาครับ (RECIEVER) ให้สอดคล้องกลมกลืนกับภาคส่ง  แล้วนำพลังที่ได้มานั้นสร้างภูมิจิต ภูมิปัญญาและเข้าสู่ภูมิธรรม นำไปใช้สร้างศักยภาพ เพื่อพัฒนาตนและสังคมสืบต่อไปอรรถาธิบายนี้คงพอจะระงับกรณีความเข้าใจผิดซึ่งกันและกัน  ที่อาจจะเป็นชนวนเหตุให้เกิดแตกความสามัคคีขึ้นได้ในสังคมไทย

บรรยากาศอันเร่งเร้าในสังคมของเรา  ช่วงนี้หนีไม่พ้นเรื่องของประชาธิปไตย  โดยเฉพาะการรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ  สังคมกำลังโจษขานถึงเรื่องความบานสะพรั่งของประชาธิปไตย  เรื่องนี้ต้องพิจารณาถึงคำว่า  รูปแบบที่เหมาะสมและเนื้อหาที่กลมกล่อม

รูปแบบของประชาธิปไตย มักได้รับความสนใจในเรื่องของรูปแบบ  และระบบว่าต้องมีรัฐสภา ต้องมีคณะรัฐมนตรี  ต้องมีฝ่ายนิติบัญญัติ  ฝ่ายบริหารและตุลาการ  อีกทั้งต้องมีจำนวนผู้แทนราษฎร  วุฒิสมาชิกจำนวนเท่านั้นเท่านี้  เราให้ความสำคัญกับเรื่องของรูปแบบหรือรูปธรรม  จนบางครั้งมองข้ามสิ่งที่เป็นเนื้อหาสาระหรือสาระธรรมของประชาธิปไตยไป  ซึ่งเป็นตัวเนื้อแท้ตัวแก่น ถ้าไม่มีเนื้อหาหรือแก่นสารที่เพียงพอ  รูปธรรมหรือรูปแบบที่แสนจะสวยหรู  การปฏิรูปประชาธิปไตย  จะปฏิรูปกันสักปานใด  ก็คงจะวนเวียนกันไปมาเสมือนการพายเรือในอ่าง ดั่งที่เคยเป็นอยู่

ปัญหาของสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมเก่าหรือใหม่ สังคมใกล้หรือไกล ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของชีวิตและจิตใจที่แสดงออกมาจากความต้องการของแต่ละคนแต่ละฝ่าย  แล้วนำมาผสมผสานความยอมรับซึ่งกันและกัน อีกทั้งความประนีประนอม คือ ยอมรับด้วยความสบายอกสบายใจ  ไม่ใช่ยอมกันอย่างแบบของสากล  ที่เรียกว่า Compromise หรือพบกันครึ่งทาง

ความประนีประนอมย่อมมีขึ้นได้ หากต่างฝ่ายต่างมีจิตใจไม่คับแคบ ซึ่งสาเหตุของความคับแคบของจิตใจมีสามประการ คือ ตัณหา ทิฐิ (ความดื้อ) และมานะ (ความรั้น) เพียงสามประการนี้ ถ้าผู้ใดหรือที่ใดมี จะก่อให้เกิดผลร้าย ยากแก่การผสานประโยชน์เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติ



รักลึกลับ

นิยามของความรัก มีลักษณะหลากหลาย บ้างก็เป็นรูปลักษณ์  แบบกระจุกควบรวมสาระ  เช่น  ความรักเป็นทุกสิ่งในชีวิต  บ้างก็ถูกนำมาตีแผ่  เป็นความกระเจิดกระเจิงทางอารมณ์  เช่นที่ว่า  “ความรักชาติเป็นสิ่งกว้างไกลสุดขอบฟ้าจักรวาล” โดยแท้ความรักเป็นธรรมชาติที่ไม่มีตัวตน  สัมผัสด้วยความรู้สึกขั้นต้น  คือ  รับรู้และสัมผัสขั้นที่สองด้วยการคิดจำ  ส่วนสัมผัสขั้นที่สามอันลึกล้ำและพิสดารคือปรากฏการณ์ที่เป็นวังวน

ความรักจะมีสัมผัสกี่รูปลักษณะ  ก็เป็นสิ่งที่ประมาทไม่ได้  เพราะมีบทบาทและอิทธิพลมากมายต่อชีวิตทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย  การสร้างสรรค์และการทำลาย ความรักถึงแม้นจะเป็นเรื่องยุ่งยากและลำบากในการทำความเข้าใจ  แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์ควรใส่ใจ  ให้ทั้งรู้เท่าและรู้ทัน  จะรู้เพียงอย่างเดียวนั้นอันตรายยิ่ง  และจะยิ่งเป็นอันตรายอย่างมากหากปฏิเสธไม่ยอมเรียนรู้และรับรู้ในเรื่องของความรัก  และความใคร่  ทั้งความรักและความใคร่ เป็นเรื่องที่อยู่ในสายสัมพันธ์ของชีวิต  ในเส้นทางเดียว เพียงแต่ว่าจะอยู่ในส่วนหัวหรือส่วนท้ายความรักและความใคร่  สิ่งใดจะเกิดก่อนหลัง  ทั้งสองอย่างเป็นตัวเนื้อแท้ของธรรมชาติ  อันมีกายครอง  จิตสนอง  และวิญญาณบันดาล

ความรักเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตมนุษย์ที่ยังมีผัสสะรสทั้งห้า  อันหมายถึง  ตายังมองเห็น  หูยังได้ยิน  จมูกยังได้กลิ่น  ลิ้นยังสัมผัสรส  กายยังรับรู้การสัมผัส ประสาทสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์มีคำปรัชญา  ว่า  มนุษย์สามารถเข้าสู่ความสมบูรณ์ของชีวิตได้ด้วยความรักเท่านั้น  คนธรรมดา  ต้องยอมรับว่า  ความรักเป็นบ่อเกิดแห่งความสดชื่นและหอมหวาน  เป็นสิ่งประโลมโลก  หลักธรรมก็ยังสอนให้มีความรักซึ่งกันและกัน  แต่ส่วนใหญ่นั้น  เน้นและครอบคลุมไปถึงความเมตตา กรุณา โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ความรักเกิดจากสาเหตุหลายประการ  ถ้าจำแนกแยกออกไปคงจะมีประเด็นอีกมาก  สาเหตุหลักที่ปักใจเชื่อและเห็นได้ง่าย  เหตุประการแรก รักเพราะความใคร่  ประการที่สอง คือ ความสงสาร ดั่งเช่น เป็นเหตุ ดังเช่น คำปรัชญาขำที่ไม่มีแหล่งที่มายืนยัน  ในทำนองเป็นคำคล้องจองว่า “เส้นตรงที่ที่มาน่าสงสาร ตั้งอยู่บนฐานแห่งความพอใจ สิ่งที่เกิดใหม่คือความรัก  สิ่งที่เกิดเก่าคือความใคร่  หรือว่า  สิ่งที่เกิดเก่าคือความใคร่ที่หมักหมมมานาน  สิ่งที่เกิดใหม่คือความรัก  จะต้องพิสูจน์ว่า  รักและใคร่ต่างกันอย่างไร”

ประการที่สาม  ความรักที่เกิดจากความประทับใจ  ข้อนี้ก็ชวนให้สงสัยว่า  ใจนั้นไปประทับ ณ จุดไหน  และประทับด้วยท่าทีอย่างไร  จึงเกิดเป็นความรักขึ้นมา  ประการที่สี่  พฤติกรรมของความรักที่เกิดจากการพบครั้งแรก  หรือสำนวนที่เรียกว่า  รักแรกพบ  สาเหตุประการนี้ก็น่าสงสัย  ว่า  ที่พบกันแล้วความรักในชาตินี้นั้น  คือบุพเพสันนิวาสหมายถึงในอดีตชาติเคยมีโอกาสได้พบกันมาบ้างหรือไม่ สาเหตุของความรักสี่ประการ  หรือจะมีอีกกี่ประการก็ตามที  ในหนังสือ  “ความรักจากวาเลนไทน์  สู่ความเป็นไทย”  ของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุต.โต) ได้ให้ความหมายไว้ว่า  ความรักนั้นแบ่งออกเป็นสองแบบ  ความรักแบบที่หนึ่ง คือ การคิดจะเอาจากผู้อื่น เรียกว่า ความรักแบบเห็นแก่ตัว ปรารถนาที่จะตักตวงความสุขเพื่อบำรุงบำเรอให้แก่ตัวเอง  กับความรักแบบที่สอง  เป็นความรักแบบมีเมตตาไมตรี เป็นความรักที่พร้อมจะเสียสละและปรารถนาที่จะให้ความสุขและให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ เช่น ความรักจากพ่อแม่ ดั่งข้อความในตอนหนึ่งว่า “ความรักแบบที่หนึ่งนี้ ที่แท้แล้วก็คือ  การคิดจะเอาจากผู้อื่น  ในเมื่อมันมีลักษณะอย่างนี้  มันจึงมีข้อเสียที่สำคัญติดมาด้วย คือ ถ้าหากว่าเขาผู้นั้นไม่อยู่ในภาวะที่จะสนองความปรารถนาให้เรามีความสุขได้ เราก็จะเบื่อหน่ายและก็อาจจะรังเกียจ  จึงเห็นได้ว่าไม่ยั่งยืน  อันนี้เป็นข้อบกพร่องที่สำคัญประการแรก”

ความรักอันมั่นคงของชีวิตคู่  อิงตามหลักเหตุผลธรรมดา  มุ่งปลูกฝังชีวิตสมรสให้เป็นไปตามจริยธรรมของการครองคู่  โดยอาศัยความฝังลึกแห่งชีวิตรักสถานเดียว  ปฏิเสธความอาถรรพณ์อันเกิดจากอำนาจบุพเพสันนิวาสที่พาดพิงกรรมเก่า  อันเป็นกงเกวียนกำเกวียนที่เวียนจนกลายเป็นกลกรรม การกระทำที่มุ่งดีของพ่อบ้านแม่เรือนที่ตั้งมั่น  มุ่งหมายที่จะสร้างฐานะร่วมกันตามคติแต่เดิมมา  หากพบพานกับความอาถรรพณ์ เพราะเหตุแห่งความที่สังคมมีแนวโน้มปฏิเสธการมุ่งชี้เหตุผลในเรื่องของกรรมเก่า อันมืดมนต์  ซึ่งสามารถค้นหาได้ด้วยการปฏิบัติธรรมอันถูกต้องตามตำรา  แต่ตำราที่ถูกต้องก็หาได้ยากขึ้นทุกวัน  เมื่อผู้ใดเกิดปัญหาที่เกี่ยวกับหลักแห่งกรรมเก่า  ก็กลับต้องหันไปหาและพึ่งพานักจิตวิทยาและจิตแพทย์ที่เป็นสากลไม่ตรงกับอาการของปัญหา  เพราะปัญหาที่เกิดจากความรักอันลี้ลับ  จุติจิตเกี่ยวกับจุติจิตภาครับฝ่ายวิญญาณ  แม้แต่ชาวตะวันตกเขาก็ยังหยิบยกเรื่องของพลังจิตมาใช้คลี่คลายปัญหา  แต่วิธีการดังกล่าวอาจนำมาใช้เข้ากันกับความอาถรรพณ์ของเราไม่ได้  เพราะความรักในภาคลึกลับเป็นเรื่องของกฏแห่งกรรม  เฉพาะถิ่นเฉพาะฐานเฉพาะกาลและเฉพาะบุคคล  จึงจำเป็นต้องค้นหาว่า  ความรักในภาคลี้ลับที่สร้างความสับสนให้แก่หญิงชาย  ควรได้รับความสนใจใฝ่ศึกษาให้สอดคล้องกับอัธยาศัยของจิตวิญญาณ

ถ้าผู้ใดมีประสบการณ์  จะเห็นความผันแปรอันแปลกประหลาดของความรัก แต่ละราย แต่ละคู่ ดูหาเหตุผลได้ยาก  จากเหตุของความรักหลายประการ  ว่าอันใดเป็นเหตุและเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดรักแรกพบ  รักประทับใจ  รักด้วยความสงสาร  และรักด้วยความรักใคร่  ซึ่งถ้าอ้างที่รูปธรรมหรืออ้างอิงที่ เงิน  ตำแหน่ง  ฐานะ  และชาติตระกูล  ของคนที่ตนเองจะเลือกรัก ความรักที่ไร้รูปไร้แบบที่วุ่นวายอยู่ในสังคมคงหนีไม่พ้นความวุ่นวายของสังคมเรื่องเนื่องด้วยความลึกของความรัก





ทนทำงาน กับ ทำงานทน

มนุษย์ต้องการให้ชีวิตของตนอยู่ดีมีสุข  ชีวิตจะมีความสุขได้นั้น  ต้องเป็นชีวิตของผู้ที่มีการงานมีอาชีพที่ถูกใจและได้ผล  คือทั้งชอบใจและเข้าใจงานที่ตนทำอยู่  เรื่องของการทำงานเป็นเรื่องหนัก  ต้องใช้กำลัง  ใช้เรี่ยวแรง  และถ้างานชนิดใดขัดกับจริตของผู้ทำงาน  สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ  จะเกิดความเครียด  ความเครียดนี้เป็นปฏิปักษ์  เป็นตัวขัดแย้งกับธรรมชาติในตัวของผู้ทำงานอย่างร้ายกาจ  เพราะในคนๆเดียวต้องเผชิญหน้ากับความหนักกายหนักใจในการทำงาน  แล้วยังจะต้องต่อสู้กับเจ้าความเครียดซึ่งเป็นศัตรูตัวสำคัญ  อันเป็นสาเหตุแห่งการบั่นทอนความไวของสมอง ความคล่องของกาย ความมีสมาธิของจิต ซึ่งเป็นอันตรายยิ่ง

ผู้คนมักจะมองการทำงานเป็นเรื่องของทุกข์ยากลำบาก ความสุขสบายและความพึงพอใจ ก็หวังว่า มันจะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้ทำงานสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว  ได้เงินตรา  ได้ตำแหน่ง  ได้ยศ  อำนาจ  ได้ชื่อเสียง  ตามที่ใจชอบ พอถึงตอนนั้นจึงรู้สึกว่าตนมีความสุข  บ้างมองไปว่าเวลาทำงานนั้นเป็นเวลาที่ต้องทนทำไปให้เสร็จสิ้น  จึงเกิดความทุกข์ยากทนทำไปเพียงเพื่อรอรับผลตอบแทน แล้วก็เอาผลตอบแทนที่ได้นั้นมาเป็นความสุข

ความสุขที่ได้รับจึงกลายเป็นความสุขส่วนน้อย  เพราะชีวิตส่วนใหญ่ของผู้คนจะหมดไปกับการทำงาน  สังคมเต็มไปด้วยการแข่งขัน  แม้แต่ชาวนาชาวไร่ สมัยก่อนปลูกข้าวปลูกพืชผลปีละหน ก็ได้ผลผลิตมากพอรับประทาน  มาถึงปัจจุบัน ปลูกกันปีละถึงสองสามหนหนี้สินก็ยังท่วมท้น  ปลดกันไม่หมดจนถึงวันตาย

ชีวิตทำอย่างไรให้ได้มีความสุขมากที่สุด  ก็ต้องมาสร้างความสุขจากการทำงาน  อย่าไปมองว่าตัวงานนั้นทำให้เกิดความทุกข์  อย่ามองงานหรือมองว่าการทำงานนั้นเป็นความทุกข์  ถ้าเกิดความทุกข์ขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใดจากการทำงาน  นั่นไม่ได้หมายความว่า  งานที่ไม่มีชีวิต  ไม่มีจิตใจ  ไม่มีตัวตน  มีแต่ผลของงานคือวัตถุ  จะมามีอิทธิพลทำให้เกิดความทุกข์  เพราะฉะนั้นความทุกข์เกิดจากจิตใจของผู้ทำงานกับผู้ร่วมงาน  ปัญหาใหญ่จึงต้องหันมาพิจารณาจิตใจกันว่า  รู้เท่าทันความตื้นลึกหนาบางของจิตใจได้แค่ไหน
    
ปัจจุบันความนิยมชมชื่นกับจิตวิทยาและวิธีการทำงานที่เป็นรูปแบบสากล  ผู้ทำงานในโรงงานหรือในสำนักงาน  แต่ละคนมีสภาพคล้ายกับหุ่นยนต์เคลื่อนที่  เอาเวลามาตีค่าเป็นเงินตรา จำนวนชั่วโมง เวลาเป็นสิ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ  การทำงานแบบสากลคือเรื่องของเวลาที่ล่วงเลยไป หรือที่เรียกว่าทำงาน “ล่วงเวลา” (OVER TIME) เรื่องค่าตอบแทนตามสัญญา เช่น รางวัลตอบแทนปลายปี  หรือค่าอะไรต่อมิอะไรอีกจิปาถะนั้น  ลูกจ้างก็ตั้งกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัดเพื่อเรียกร้องค่าตอบแทนจากนายจ้าง  ฝ่ายนายจ้าง ผู้เจนจัด ก็กำหนดด้วย ผลกำไร ชนิดที่ว่าไม่ให้เล็ดรอดถึงมือใคร  ความมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างก็หมดไป  กลายเป็นปฏิปักษ์  ต่างฝ่ายต่างยึดยุทธภูมิด้วยความเอาแต่ใจ  เพื่อสร้างความได้เปรียบระหว่างองค์กรของลูกจ้าง  และองค์การของนายทุนขึ้นมา

ผู้มีอายุเลย.....ปีก็ปรารภว่า  สมัยที่ยังเป็นหนุ่มสาวไม่คิดว่าจะเกิดบรรยากาศสังคมเช่นนี้ขึ้นในเมืองไทย  สมัยโบราณเขาเรียกการขอแรงงานกันว่า “งานลงแขก” และแลกเปลี่ยนแรงงานกันด้วยความเอื้อเฟื้อ มีมิตรจิตมิตรใจไมตรีต่อกัน  ได้ผลและความสนุกสนานจากการทำงาน  เช่น งานเกี่ยวข้าวก็ยังมีการร้องรำทำเพลง  เต้นรำกำเคียวให้เป็นที่สนุกสนาน ชื่นอกชื่นใจ มีแต่ความสุขในการทำงาน  การทำงานด้วยความสบายใจ คลายความขึ้งเครียดในระบบเศรษฐกิจแบบเก่า  คือทำธุรกิจการงานด้วยความทะนุถนอมจิตซึ่งกันและกัน  จะทำให้ผู้ทำงานนั้น  ทำงานทน  เนื่องจากความสนุกสนานผสานกับงาน  ผิดกับระบบสังคมภายใต้เศรษฐกิจแบบที่สังคมนิยมกัน  มุ่งหาแต่ผลประโยชน์และการแข่งขัน  ช่วงชิง แล้วในที่สุดก็กลายเป็นความชิงชัง  สร้างความเครียดขึงตึง  หวังประโยชน์ทุกขั้นตอนของการทำงาน  จึงทำให้ผู้ทำงานในปัจจุบัน  ฝืนจริตตามธรรมชาติของตน

ความเคร่งเครียดทำให้เลือดที่เคยเย็นอยู่ภายใน  กลายเป็นเลือดเดือด  ทนทำงานไปด้วยความเดือดดาล  จิตก็มุ่งประโยชน์ที่ตนต้องการ  ขาดคุณธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างซึ่งเคยมีมา  แทนที่จะระลึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ซึ่งมีจิตใจและวิญญาณอันสำคัญที่ละเมียดละไม ไปสัมพันธ์กับเรื่องของวัตถุ  คือสิ่งของและ
เงินตรา  ต่างฝ่ายต่างมุ่งจะเอาประโยชน์ของตนให้มากที่สุด  นายจ้างคิด  ลูกจ้างครวญ  ฝ่ายนายจ้างก็ดีดลูกคิดรางแก้วนับกำไรอันสดใส  ลิดรอนผลประโยชน์อันพึงได้ของลูกจ้าง  ฝ่ายลูกจ้างก็ทนทำงานไปวันๆ ผลที่เกิดจากการทำงานที่ต้องทนทำ  มิใช่ทำทน  จึงเกิดเป็นกรณีพิพาท  สร้างความพินาศให้กับทั้งสองฝ่าย

การทำงานที่ต้องทนทำ  ถ้าผู้ใดเปลี่ยนปรับให้เป็นทำทนได้  หมายถึง  อดทนทำไป  วันหนึ่งคงมีโอกาสได้เป็นเจ้าของกิจการ ส่วนนายจ้างหรือนายทุน  ถ้าวางแผนแบบเอารัดเอาเปรียบผู้ทำงาน  จนเขาต้องทนทำงานด้วยความเดือดดาล  ท่านอาจจะถูกผู้ทนทำงานเผาโรงงานเข้าสักวัน  ไม่เผาด้วยไฟภายนอก  ก็อาจถูกเผาด้วยไฟภายใน





คนลืมตัว วัวลืมตีน

คนไทยมีเอกลักษณ์และสัญลักษณ์ที่เด่นชัดเฉพาะตนเองมีภาษาไทย มีรูปลักษณ์ของศาสนา คือ ศาสนาพุทธ ซึ่งประกอบด้วยทั้งปูชนียสถานและปูชนียบุคคล ที่ได้หล่อหลอมและสั่งสมมาช้านาน โดยเฉพาะภาษาไทย มีการแบ่งแยกคำและความหมายไว้ชัดเจน มีทั้งสุภาพ คำที่เป็นราชาศัพท์ คำกระทบกระแทก เช่น คำว่า เท้า คำสุภาพว่า บาทา คำที่เป็นราชาศัพท์จะเรียกว่า พระบาท ส่วนคำกระทบกระแทก ก็ใช้ว่า ตีน  อย่างนี้เป็นต้น

พุทธศักราชใหม่ที่แวะเวียนเปลี่ยนมาตามนักษัตรนี้ มีชื่อว่า ปีฉลู มีวัวเป็นสัญลักษณ์ของปี ชาวบ้านจะติดปากว่า ปีวัว คนไทยสมัยก่อนจะถือวันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนห้า เป็นวันเริ่มต้นของปีอย่างเช่นปีนี้   ถ้านับแบบเก่าก็จะตรงกับวันที่ 7 เมษายน 2540

ปีฉลูหรือปีวัวนี้ เป็นปีที่มีความหมายให้ย้อนรำลึกถึงสิ่งเตือนใจและเตือนความคิด เตือนความทรงจำ เตือนสิ่งเป็นความคิดอันลึกล้ำ คือ เตือนจิตวิญญาณ อันเป็นลางสังหรณ์บอกเหตุไม่สู้ดี

ในทางกลับกัน อาจจะเป็นการบอกเหตุที่ดีของเทวดา กลายเป็นการล้างอาเพทอาถรรพณ์ด้วย ปาฏิหาริย์ คือการตอบโต้ตีกลับ เข้ามาช่วยสิ่งที่ไม่ดีให้เปลี่ยนสิ่งที่ดีได้ คือ การปรับเปลี่ยนความอาถรรพณ์ให้เป็นมหัศจรรย์ให้เกิดปาฏิหาริย์ในทางที่ดี ปีฉลูหรือปีวัวที่เรียกกันอย่างชาวบ้าน มีสิ่งบอกเหตุทั้งนอกประเทศและในประเทศมาก่อน คงจำกันได้ว่าเมื่อปีกลายได้เกิดเหตุก่อความวิตกทุกข์ร้อนของภูมิภาคโลกทางยุโรปที่ประเทศอังกฤษมีเหตุวิปริต วัวที่เลี้ยงไว้เป็นอาหารและเป็นเครื่องอุปโภค เช่น เพื่อนำสารบางชนิดในตัววัวทำเครื่องสำอาง ข่าวครึกโครมว่ามีเชื้อของวัวบ้าติดแพร่กระจายไปทั่ว จนผู้คนเกิดความหวาดกลัวถึงกับยื่นญัตติหาข้อยุติเป็นกรณีใหญ่โตระหว่างประเทศอังกฤษพบกับความกระทบกระเทือนอย่างหนัก  ส่วนความทรงจำเนื่องด้วยเรื่องเดียวกันในประเทศไทยเกิดขึ้นในตอนปลายปี 2539 ที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี มีข่าวพบวัวบ้า และโจษขานกันว่าผู้คนบริโภคเนื้อวัวบ้าเข้าไปมากราย

ก่อนหน้านี้มีกรณีอันวุ่นวายเกี่ยวกับการปราบปรามยาบ้า แต่เดิมเรียกว่ายาม้า เป็นคดีค่อนข้างใหญ่ เพราะกลายเป็นกรณีถกเถียงกันไปมา  ความอาถรรพณ์ใด อันหมายถึงสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ในทางที่ไม่สู้ดีและก่อให้เกิดความไม่สบายใจในทางลึกลับ เช่น อาถรรพณ์ในความรักอันไม่เป็นไปตามครรลอง อาถรรพณ์ในเรื่องโรคที่ไม่เป็นตามวินิจฉัยทางการแพทย์ในปัจจุบัน อาถรรพณ์ในเรื่องของปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่น่าเป็นไปได้ เหล่านี้ต้องอาศัยการพิจารณาโดยละเอียด การแก้ไขด้วยอำนาจพลังจิตนั้น เมื่อพลังจิตเกิดความสมดุลกันสิ่งที่เป็นเหตุและปัจจัย ทั้งเหตุและปัจจัยธรรมดาที่อยู่ในสามัญวิสัยและเหนือสามัญวิสัย แต่อยู่ในกฎเกณฑ์อันแน่นอนของธรรมชาติทั้งสิ้น สิ่งมหัศจรรย์ปรากฏการณ์ที่ดีก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้

เรื่องของจิตไม่ว่าระดับไหน ตั้งแต่จิตทั่วไปจนถึงจิตวิญญาณ ต้องควบคุมด้วยสติและติดตามด้วยปัญญา ต้องควบคุมด้วยสติและปัญญา เป็นอนุกรรมต่อเนื่องกันมาอย่างไม่ขาดสายความรู้เกี่ยวกับสติที่มีอยู่ในหนังสือพุทธธรรม ของทาสเจ้าคุณพระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต) ยกมาบางตอน ในหมวดสัมมาสติชี้ให้เห็นชัดแจ้งของคำว่า “สติ” ดังนี้

“สติเป็นธรรมสำคัญในทางจริยธรรมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นตัวควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นตัวควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นตัวคอยป้องกันยับยั้งตัวเอง ทั้งที่จะไม่ให้หลงเพลิดเพลินไปตามความชั่ว เล็ดลอดเข้าไปในจิตใจได้พูดง่าย ๆ ว่าที่จะเตือนในการทำความดีและไม่เปิดโอกาสแก่ความชั่ว ” และ “การเป็นอยู่โดยไม่ขาดสติซึ่งขยายความได้ว่า การระมัดระวังอยู่เสมอ ไม่ยอมถลำลงไปในทางเสื่อมและไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความเจริญก้าวหน้าตระหนักดีถึงสิ่งที่จะต้องทำและต้องไม่ทำใส่ใจ สำนึกอยู่เสมอในหน้าที่ ไม่ปล่อยปละละเลย กระทำการด้วยความจริงจัง และพยายามเดินรุดหน้าอยู่ตลอดเวลา กล่าวได้ว่าอัปปมาทธรรม นี้เป็นหลักความรู้สึกรับผิดชอบตามแนวพระพุทธศาสนา

คราวใดที่เราเห็นคนบ้า ทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลและเดินไปมาตามถนนหนทาง หรือคลุ้มคลั่งอยู่ในบ