สำนักสหปฏิบัติฯ

           เป็นลักษณะวุฒิภาวะของจิต เมื่อถูกพัฒนาตั้งแต่พื้นฐานจนสูงขึ้นไปตามวิถีแห่งการพัฒนาจิตตามขั้นตอนของพระพุทธศาสนา เป็นการรับรู้ เรียนรู้ รวบรวม แยกแยะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พลังจิต ไสยศาสตร์ เทพ และ ปาฏิหาริย์ ว่าคืออะไร  มาเกี่ยวข้องกับเราเพราะอะไร เป็นการศึกษาจิตวิทยาสู่จิตวิญญาณ โดยรู้จักใช้ธรรมวิจยะมาพัฒนา ให้รู้ว่าชีวิตควรจะเดินหน้าอย่างไร และเพื่อนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ให้ได้ในชีวิตประจำวัน   ทั้งนี้เราต้องรู้จัก ประเมินและพิจารณาตน   พิจารณาจากการเกิดสิ่งที่ผิดปกติในตัวเอง ว่ามีสิ่งบ่งชี้ให้เห็นในชีวิตของเราบ้างหรือไม่ เช่น สอบตก อกหัก หลักลอย คอยงาน สังขารโทรม เราต้องประมาณตนเองว่ามีความรู้ในด้านทางในนี้มากน้อยแค่ไหน การปรึกษาหาผู้รู้มาเป็นผู้ชี้แนะ ก็จะมีส่วนช่วยได้อีกส่วนหนึ่ง ในขณะเดียวกันเราก็ต้องรู้จักพัฒนาตัวเอง หมั่นค้นคว้า ศึกษา เรียนรู้ และพัฒนาตน ทั้งการปฏิบัติกรรมฐานจนล่วงรู้ฐานของกรรม และที่สำคัญคือเราจะต้องศึกษาหาตัวรู้ระดับจิต จนถึงตัวรู้ระดับวิญญาณควบคู่กันไปและต้องมีความสมดุลย์กันเสมอ หากไม่สมดุลย์  ก็จะก่อให้เกิดเป็นกรรมเก็บกด อันจะก่อให้เกิดปัญหาในวิบากกรรมได้การพัฒนาวุฒิภาวะทางจิต ในที่นี้ขอแบ่งเป็นลำดับของการพัฒนาตามหลักของพระพุทธศาสนาตั้งแต่ต่ำสุดจนสูงสุด ได้ดังนี้

๑.  รู้และสนใจแต่เรื่องมนต์ดำทางเสื่อม   เช่น หงษ์ร่อน มังกรรำ  ควายธนู  เสน่ห์ยาแฝด  ตะปูโลงผี ฯลฯ ผู้ที่มีจิตระดับนี้จะสนใจแต่เพียงเรื่องของไสยศาสตร์  พลังเทพ พลังผี พลังเปรต และมนต์ดำต่างๆ  ไม่สนใจใฝ่เรียนรู้ไปในทางที่จะทำให้ตัวเองหลุดพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด  ดังนั้นผู้ปฏิบัติธรรมควรพิจารณาให้ดี ไม่ต้องไปลองเล่นหรือทดลองทำมนต์ดำหล่านี้ แค่ศึกษาให้รู้ก็พอ  จิตระดับนี้จะไม่มีปัญญาในการรวบรวม แยกแยะเหตุและผลให้ชัดเจน เพราะฉะนั้นจิตระดับนี้จึงไม่ใช่เป้าหมายของพระพุทธศาสนา หากเปรียบเทียบวุฒิภาวะทางการศึกษา เทียบเคียงได้เพียงระดับประถม เท่านั้น

๒.  อิทธิปาฏิหาริย์และ เทวาปาฏิหาริย์
          อิทธิปาฏิหาริย์
             จิตระดับนี้สามารถรับรู้ และได้ซึ่งผลแฝงจากอำนาจบุญบาปที่เราได้สะสมมาทั้งที่โดยไม่รู้ตัวหรือ รู้ตัว   โดยไม่มีผู้เกี่ยวข้องเป็นลักษณะที่ไม่มีตัวตนเป็นเพียงพลังงานที่เป็นตัวก่อเหตุ 
         เทวฤทธิ์ปาฏิหาริย์ 
           คือ ผลจากอำนาจของบุญบาปที่เราได้ทำมา  ซึ่งจะมีผู้เกี่ยวข้อง ทั้งที่มีสังขาร(มาเกิดแล้ว)และไม่มีสังขาร(ยังไม่มาเกิด) ทั้งระดับเทวดา จนถึงระดับมหาเทพมาแสดงฤทธิ์ ร่วมก่อเหตุ  ฤทธิ์ชนิดนี้เป็นฤทธิ์ที่ยังห่ามอยู่ ยังควบคุมไม่ค่อยได้ ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาฤทธิ์ขั้นนี้ให้สุกก่อน ให้เป็นธรรมดาธรรมชาติ  และที่สำคัญคือเราไม่ควรยึดติดในฤทธิ์ เพราะถ้าเราใช้ฤทธิ์ท่ามกลางความโลภ โกรธ หลง เราอาจไปไม่รอด ซึ่งอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์นี้พระพุทธองค์ทรงรังเกียจ ทรงไม่ต้องการให้พุทธศาสนิกชนมุ่งสนใจ หรือฝึกแต่ฤทธิ์สนใจแต่ฤทธิ์ ซึ่งจะทำให้เราหลงผิด และเดินผิดทางจากพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่มุ่งเน้นปัญญาไปได้  เพราะคนมักติดในฤทธิ์ ได้ง่ายกว่าการเรียนรู้หลักธรรมในพระพุทธศาสนาซึ่งยากกว่ามาก จึงทำให้ผู้คนไม่สนใจศึกษาธรรมที่แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา แต่กลับมาสนใจเพียงฤทธิ์ซึ่งเป็นเพียงเปลือกนอกเท่านั้น ซึ่งสภาวะจิตในขั้นนี้ จะยังไม่สามารถแยกได้ว่าฤทธิ์ที่ได้นั้น ส่วนไหนคือเทพฝ่ายบุญ กับลักษณะไหนคือเทพฝ่ายบาป  และจะยังควบคุมองค์ที่ผ่านไม่ค่อยได้  เปรียบเทียบวุฒิภาวะทางการศึกษาได้เท่ากับ ระดับมัธยมต้น  

       ๓.  ฤทธานุภาพ และ เทวานุภาพ   สภาวะจิตระดับจะนี้สามารถเข้าใจ และเข้าถึงปัญญาในธรรมได้มากขึ้น สามารถปรับฤทธิ์ให้เข้าสู่ภาวะธรรดาธรรมชาติได้สมดุลมากขึ้น  สามารถเข้าถึงจุดประสงค์ของเทพฝ่ายดีและรับทราบได้ว่าเราจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรตามความประสงค์ ในขณะเดียวกันก็สามารถแยกแยะเทพฝ่ายบุญและเทพฝ่ายบาปออกจากกันได้ ในขั้นนี้อาจมีการดลใจโดยเทวดา (เทียบเท่าการสอบข้อเขียน) และลองใจโดยมหาเทพ (เทียบเท่าการสอบสัมภาษณ์) หากเมื่อทำการทดสอบแล้วพบว่า เรายังติดฤทธิ์ โลภ โกรธ หลง อยู่ เราก็จะไม่สามารถผ่านชั้นนี้ไปสู่ระดับวุฒิภาวะทางจิตที่สูงขึ้นได้ เพราะฉะนั้นเราจึง ควรเริ่มเน้นการพัฒนาปัญญาและ ฝึกการวิจัยธรรม เปรียบเทียบวุฒิภาวะทางการศึกษา ได้เท่ากับระดับมัธยมปลาย  

๔. จิตตานุภาพ  เมื่อเราได้พัฒนาจิตให้สูงขึ้นไปจนมีอำนาจจิตแล้ว  พลังจิตนี้จะสามารถรับรู้ถูกต้องตามขั้นตอน  จิตพร้อมรับองค์ฌานองค์ญาณ  และจะพัฒนาความรู้ให้ถึงระดับที่รู้จริงและรู้ถูกต้อง ซึ่งฤทธิ์นั้นก็ยังคงรักษาไว้ไม่ได้เสื่อมลงไป แต่ไม่ควรไปยึดติดในฤทธิ์ เราสามารถรวมฤทธิ์ให้เข้ากับตัวรู้ได้อย่างสมดุล  สามารถรวบรวมความรู้ในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆได้เป็นหมวดหมู่  และแยกแยะได้ว่าตอนไหน บทบาทใด และขั้นไหน เกิดจากเหตุอะไร สิ่งใดเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งใดเป็นไสยศาสตร์ เข้าใจในกระบวนการทำงานของจิต  รู้สถานะและบทบาทตัวเองในปัจจุบัน สามารถปรับตัวเองให้อยู่ในสภาวะปกติ เป็นธรรมดาธรรมชาติจนดูไม่ออกว่ามีญาณผ่าน เมื่อเราพัฒนาจนถึงจิตตานุภาพแล้ว  จิตของเราที่พัฒนาแล้ว ก็จะสามารถช่วยแก้ไข และป้องกันเราจากอกุศลกรรมที่ติดตามเรามา ให้ถึงช้ากว่ากำหนดที่เราจะต้องชดใช้กรรม รวมทั้งช่วยแก้กรรมได้อีกด้วย  ดังนั้นเมื่อเราพัฒนาจิตได้ถึงระดับนี้แล้ว เราจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างฌานและสร้างญาณ  จนสามารถควบคุมจิตของเราให้ลดความโลภ ลาภ โกรธ หลง และสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับชีวิตได้  จิตที่มีพลังจิตตานุภาพสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บจากสิ่งเล้นลับได้ หากจิตเราศักดิ์สิทธิ์มีพลังก็ไม่ต้องกลัวสิ่งใด จิตกลางๆนั้นจะเป็นจิตที่มีพลังสูงสุด จิตขั้นนี้จะมีอุเบกขาเป็นฐานที่แข็งแกร่ง มีความเข้าใจในธรรม ชำนาญในธรรมวิจยะ รู้ทุกขั้นตอนการก่อและขั้นที่ต่อๆกันไปจนเกิดเป็นผล  สามารถพัฒนาให้มีเมตตาและปัญญาเป็นตัวนำทาง  ในขั้นนี้องค์เทพ ฌาน ญาณ จะพัฒนาขึ้นมากถือเป็นมาตรฐานจิต ของคนที่ทำงานทางด้านจิตวิญญาณ เปรียบเทียบวุฒิภาวะทางการศึกษาขั้นนี้  ได้เท่ากับระดับปริญญาตรี
๕.  มโนมยิทธิ  เป็นจิตที่มีพลังมีฤทธิ์สูง หรือเรียกว่า “ฤทธิ์ทางใจ”  โดยเริ่มจากรับรู้คิดจำ มีความจำได้หมายรู้  และรู้แจ้งแทงตลอด ในที่นี้หมายถึงรู้แจ้งในเรื่องราวที่เป็นเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างคล่องแคล่ว ในระดับภวังคจิตจนถึงระดับปัญญาญาณ เป็นธรรมารมณ์ ฝังอยู่ในจิตใจตลอดเวลา หากคนเรารู้แต่เรื่องที่เป็นโลกีย์วิสัย เจตสิกก็จะทำงานในระดับอารมณ์มนุษย์ คือมีทั้ง โลภ โกรธ หลง อันเป็นอารมณ์ที่ไม่เที่ยงแท้ เดี๋ยวเกิด เดี๋ยวดับ เดี๋ยวฟู เดี๋ยวแฟบ หากเราพัฒนาจิตจนสามารถเข้าถึงและเข้าสู่อารมณ์ฌาณ อันเป็นอารมณ์ที่มีความสิ่งศักดิ์สิทธิโดยแฝงอยู่ ทั้งในรูปของเทวฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และ เทวานุภาพ จนถึงจิตตานุภาพ และสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ในที่นี้ย่อมหมายถึงการที่เราสามารถพัฒนาตัวฤทธิ์ทางใจของเราให้สูงขึ้นตามลำดับนั่นเอง แม้แต่การเข้าถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่น การที่เรามีความเชี่ยวชาญในเรื่องของพุทธประวัติเป็นอย่างดี สามารถพูด หรือ อธิบาย เข้าใจ หรือตอบปัญหาเรื่องราวที่มีความศักดิ์สิทธิ์ทางวิญญาณต่างๆ เช่นเรื่องพุทธประวัติได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็ว ซึ่งการทำงานของจิตในระดับนี้ จะเป็นกระบวนการของจิตในระดับที่ลึกมากๆ จนถึงระดับภวังคจิตลงไป จิตผู้นั้นก็ย่อมจะเข้าถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้โดยอัตโนมัติ บุคคลนั้นก็จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาคอยกำกับดูแล คุ้มครองให้โอกาสในชีวิตเช่นกัน จัดเป็นธรรมารมณ์ตรึงแน่นอยู่ในมโนภวังคจิต  จิตขั้นนี้จะสามารถพิจารณาเรื่องกำกวมต่างๆเพื่อการรวมกรรมได้ดี ในขั้นนี้เราควรพิจารณากรรมโดยใช้ภาพกรรมรวม และอำพรางบ้างเพื่อความอำไพ  เพราะบางอย่างบางเรื่องที่เราทราบได้จากมโนมยิทธินั้นไม่ควรนำมาเปิดเผยโดยตรง  เราจึงควรบริหารการแสดงออก  เช่น ทางการพูด ควรพูดหรือฝึกการแสดงออกให้เป็นไปในลักษณะที่เป็นสากล  ฟังแล้วเข้าใจได้ทุกคน ทุกชาติ ทุกชนชั้น  สามารถแสดงความน่าเชื่อถือในการถ่ายทอดได้อย่างมีเหตุผล  จิตขั้นนี้ถือได้ว่าแตะเพดานบนของขั้นอภิญญาญาณแล้ว เป็นขั้นที่มีความจำได้หมายรู้ และมีองค์เทพ องค์ ฌาน ญาณ อยู่ในระดับสูง หากเปรียบเทียบวุฒิภาวะทางการศึกษาถือว่า ได้เท่ากับระดับปริญญาโท

๖.  อภิญญาญาณ    จิตระดับนี้จะ มีปัญญารู้แจ้งแทงตลอด มีความเจริญงอกงามด้วยไตรลักษณ์ มีปัญญาความรู้ทั้งในลักษณะ รู้กว้าง(องค์ฌาน) และรู้ลึก(องค์ญาณ) เจริญสูงสุดในธรรมารมณ์จนปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นกลางและความว่างในหลักของพระพุทธศาสนาได้  ทั้งนี้คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติที่ได้อภิญญาญาณแล้ว จะมีคุณลักษณะพิเศษ ๖ข้อแตกต่างจากบุคคลทั่วไป เริ่มต้นคือโลกียอภิญญาญาณ จนสู่โลกุตระอภิญญาญาณ ได้แก่
                ๑. อิทธิวิทธิ  ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆได้
                ๒. เจโตปริญญาณ ญาณที่กำหนดใจคนอื่นได้
                ๓. ทิพย์จักขุ  ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์
                ๔. ทิพย์โสต   ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์
                 ๕. ปุพเพนุวาสานุสสติ  ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้
                 ๖. อาสวัคญาญาณ  ญาณที่ทำให้อาสวะกิเลสหมดสิ้นไป
   จิตที่มุ่งสู่โลกียอภิญญาญาณ ได้แก่ญาณ๕ ข้อแรก ซึ่งล้วนเป็นธรรมที่เป็นวิสัยของโลก และโลกุตตรอภิญญาญาณอันหมายถึง ญาณข้อที่ ๖ เป็นธรรมที่ไม่ใช่วิสัยของโลก ในสภาวะพ้นโลก หรือที่เราเรียกว่าญาณกำจัดกิเลส  มีตัวรู้ที่สูงสุดด้วยอนุสาสนีย์ปาฏิหาริย์  รู้แจ้งแทงตลอดจนถึงระดับวิญญาณ  สามารถสั่งสอนได้ถูกต้องต่อเนื่องทั้งธรรมะในสามัญวิสัย และเหนือสามัญวิสัย รู้จักการใช้ธรรมวิจยะในทุกขั้นตอน ทุกกระบวนการจิตในทุกสภาวธรรม  เพื่อที่จะสามารถสอนธรรมะได้กว้างไกล พลิกแพลงได้ตลอด และมีความเข้าใจในพระธรรมได้อย่างแตกฉาน เข้าถึงความโยงใยของแต่ละหมวดธรรมชัดเจน แสดงการสอนธรรมะได้ในลักษณะที่เป็นสากลและยอมรับกันได้ทั่วโลก เปรียบเทียบกับวุฒิภาวะทางการศึกษาถือว่า เทียบได้เท่ากับระดับปริญญาเอก 
           ทุกคนสามารถปฏิบัติธรรม จนถึงขั้นที่จิตเข้าสู่ระดับจิตตานุภาพได้  ทั้งนี้การปฏิบัติธรรมทั้งหมดขึ้นอยู่ที่การใส่ใจ ใฝ่เรียนรู้ ควรพัฒนาตัวรู้ ทั้งความรู้จากการฟัง อ่าน จากข้างนอก และพัฒนาความรู้ระดับองค์ฌาน องค์ญาณ ที่เกิดขึ้นจากข้างใน ให้ผสมกลมกลืนกัน  ภาวะจิตของเราจึงจะพัฒนาขึ้นตามลำดับ  แต่ในทางตรงกันข้าม หากจิตกลับเพิ่ม กิเลส ตัณหา อุปาทาน จิตจะถอยหลังลง หรือไปไม่ถึงไหน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมอารมณ์ และความศรัทธา ความเพียรพยายาม ตลอดจนสิ่งแวดล้อมและ ความตั้งใจของเราทุกคน